“เด็กดื้อ หัวดื้อ หัวรั้น” อาจเป็นเพียงคำเรียกรวมกว้าง ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองกับการแสดงออกของเด็กงอแงไม่ได้ดังใจ พูดกันไม่เข้าใจไม่ยอมรู้เรื่อง บางครั้งยังออกแนวเรียกล้อขู่พวกเด็ก ๆ มากกว่าจริงจัง
เด็กดื้อที่เรียกกันนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าเรื่อง “ดื้อ” โดยรวมนั้นมักเป็นอาการตอบสนองตามปกติของสิ่งมีชีวิต เมื่อไม่ได้ดั่งใจไม่ได้ในสิ่งต้องการ หรืองุนงงกับท่าทีการแสดงออกของผู้คน หรือไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ก็เกิดเป็นความคับข้องใจขัดใจ เด็ก ๆ ตอบสนองความรู้สึกเหล่านั้นด้วยการต่อต้าน ร้องไห้ แผดเสียงโวยวายเหมือนสมัยเป็นเด็กทารก ว่ากันตามจริงแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เองบางอารมณ์ก็เป็นเหมือนกัน
ถึงแม้จะเป็นสภาวะปกติ แต่สิ่งที่อาจเพิ่มความกังวลวิตกตามมาของคุณแม่คุณพ่อผู้ปกครองกลัวว่าพวกเขาจะกลายเป็นยิ่งดื้อยิ่งรั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขึ้นเกเรใช้อารมณ์ตัวเองเป็นสำคัญกลายเป็นนิสัยไม่ดีติดไปถึงตอนโต
มาค่ะเรามีเทคนิคง่าย ๆ มาช่วยผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและพร้อมรับมือกับเด็ก ๆ ของเรา
ก่อนอื่นเราต้องเริ่มเก็บข้อมูลสังเกตพฤติกรรมทำความเข้าใจต่อความต้องการของเด็ก หากใครขยันก็บันทึกเก็บไว้เปรียบเทียบวิเคราะห์ให้ชัดเจน สิ่งที่พวกเขาแสดงออกทั้งในบ้านนอกบ้าน และกับคนรอบข้าง พยายามทำอย่างเป็นธรรมชาติจะดีที่สุด เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าเราจ้องจับผิด หรือคุกคามความรู้สึก
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เราจะชัดเจนกับการกระทำของพวกเขาและวิเคราะห์ได้ว่าดื้องอแงตามวัยตามอารมณ์หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดหากมีแนวโน้มการแสดงออกของพวกเขาเริ่มเข้าสความรุนแรง ซึ่งอาจต้องปรึกษาความร่วมมือช่วยแก้ไขกันในครอบครัว รวมถึงคุณครูประจำชั้น ครูแนะแนว หรือแม้แต่จิตแพทย์หากเกินกำลัง
กฎเหล็กสำคัญของการเลี้ยงลูกสมัยใหม่ คุณต้องเป็นเพียงผู้ดูแลเป็นเพื่อนคอยรับฟังรับรู้เรื่องราวของพวกเขาอย่างเข้าใจจริง ๆ คอยใส่ใจสังเกตช่วยเหลือแนะนำพวกเขาด้วยเหตุผล ค่อย ๆ ให้เขาซึบซับเข้าใจกับกฎระเบียบเมื่อต้องอยู่รวมกันในครอบครัว ไม่ใช่เลี้ยงดูด้วยคำสั่งคำสอน สร้างกฎต้องห้าม หากเป็นแบบนั้นพวกเขาจะมีวิธีการตอบโต้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นเด็กดื้ออย่างแท้จริงในอนาคต
อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เพื่อเป้าหมายสูงสุดให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพแล้วค่อย ๆ ปรับพยายามกันไป ใช้อารมณ์แต่น้อยกับคนในครอบครัว อย่าบ่อยครั้งมากจนกลายเป็นเด็กซึบซับเข้าใจว่าสิ่งที่แสดงออกของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งมันอาจทำให้พวกเขาสับสนกับสิ่งที่คุณพูดหรือกระทำจนกลายเป็นความไม่เข้าใจ เครียดสะสม พร้อมที่จะหลบหนีออกห่างจากครอบครัว
เด็กในวัยประถมนี้แม้จะยังไม่มีพฤติกรรมดื้อรั้นชัดเจน อาจมีแค่เพียงความคิดเป็นของตัวเอง ต้องการอิสระต้องการแสดงออกตัดสินใจทำสิ่งใด ๆ ในแบบของตัวเอง วัยที่กำลังพัฒนาของพวกเขาเข้าใจรู้จักใช้ความคิดเหตุผลยอมรับเข้าใจกับข้อเท็จจริง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจึงต้องสื่อสารกับพวกเขาอย่างเข้าใจ คุณสามารถสอนแนะแนวพวกเขาไปในทิศทางเดียวกันด้วยการอธิบายสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่พวกเขาอยากรู้อยากเห็น เรียนรู้ไปด้วยกัน พร้อมกับคอยเตือนให้พวกเขารับรู้ถึงผลดีผลเสียกับการกระทำต่าง ๆ ให้พวกเขาเรียนรู้ถึงความอดทน การรอคอยกับเวลาที่เหมาะสม
หากพวกเขายังมีแววพฤติกรรมดื้อรั้นหรือทำผิดร้ายแรง ท่องให้ขึ้นใจว่าอย่าตอบโต้จบเหตุการณ์ด้วยอารมณ์โกรธว่ากล่าวหรือลงโทษ สื่อสารให้เข้าใจเหตุและผลให้ตรงกัน บางเรื่องก็ต้องปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเองแล้วค่อยแนะนำ เพื่อให้เข้าใจกับผลของความคิดรวมถึงการตัดสินใจที่พวกเขากระทำลงไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ
การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ วัยประถมเริ่มต้นให้เข้าใจชีวิตให้พวกเขามีทัศนคติมองโลกในแง่ดี ซึ่งคุณต้องเป็นไอดอลสำคัญเป็นต้นแบบให้พวกเขาเลียนแบบตาม ไม่ได้ไปมองหาติดตามคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวซึ่งอาจเสี่ยงต่ออันตราย ให้พวกเขารู้สึกมีความสุขอบอุ่นมั่นคงเมื่ออยู่ในบ้านกับคนในครอบครัว จัดเวลาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความรักความเข้าใจมีความห่วงใยต่อกัน พวกเขาจะได้พื้นฐานความสุขในชีวิตเข้าใจการอยู่ร่วมกับคนในสังคม
ความอ่อนน้อมถ่อมตนรู้จักเคารพในตัวเองและผู้อื่น พร้อมขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่กว่า การเป็นเด็กอ่อนโยนไม่ใช่เด็กก้าวร้าวไม่ดื้อไม่รั้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ผู้คนที่พวกเขาพบหรืออยู่ร่วมในบ้านหรือนอกบ้านจะให้ความรักความเอ็นดูความเมตตาและพร้อมที่จะให้อภัย ถือเป็นเกราะวัคซีนคุ้มกันให้พวกเขาเข้าใจสังคมเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต ยอมรับในกฎระเบียบกติกาต่าง ๆ ได้โดยง่าย พร้อมจะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองต่อไปในอนาคต แน่นอนที่สุดมันทำให้คุณรู้สึกเป็นห่วงพวกเขาน้อยลง
เทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้ไม่ยากเกินกำลังรับมือของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง มาเริ่มต้นสร้างจิตสำนึกที่ดีให้พวกเขาไม่ดื้อรั้นกันตั้งแต่วันนี้ คอยติดตามบันทึกพฤติกรรมของพวกเขา ปรับปรุงประยุกต์การเลี้ยงดู สื่อสารกันอย่างมีเหตุมีผล รู้สึกถึงความรักความใส่ใจความห่วงใยความอบอุ่นที่มีให้กันในครอบครัว
สิ่งสำคัญที่สุดแม้พวกเขายังมีอาการรั้นดื้อบ้างตามเหตุการณ์ตามการพัฒนาของร่างกายและจิตใจ อย่าลืมว่าต้องคอยใส่ใจอธิบายให้พวกเขารู้สึกดีต่อตัวเองกับคนรอบข้างมีความสุขกับการมีชีวิต ไม่เข้าสู่ความคิดการแสดงออกด้วยการต่อต้านหรือความรุนแรง เพื่อให้พวกเขามีพื้นฐานที่แข็งแรงเติบโตเป็นเด็กดีเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง
- แบบสอบถาม บทสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่ ญาติ ผู้ปกครอง เด็กวัยประถม และคุณครูชั้นประถม
- https://www.momjunction.com/articles/effective-ways-to-deal-with-stubborn-kids_0076976/
- https://childmind.org/article/10-tips-for-parenting-your-pre-teen/
- https://kidshealth.org/en/parents/preteen.html
- https://www.ahaparenting.com/read/tweens-preteens